โรคติดต่อที่เกิดจากยุงเห็นได้ว่ามีโรคหลากหลายที่พบได้บ่อยใน ช่วงฤดูฝน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่เกิดจาก ยุง ดังนั้นโรคพบบ่อยช่วงฤดูฝนตอนที่ 1 นี้ ทางโรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลกจึงขอกล่าวถึงกลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ นำโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคไข้เลือดออกเดงกี่ โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี และโรคมาเลเรีย เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือป้องกันโรคกลุ่มนี้กันครับ
ไข้เดงกี่ และไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue fever และ Dengue Hemorrhagic fever)
ไข้เดงกี่ และ ไข้เลือดออกเดงกี่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี สายพันธุ์ 2501 (Dengue virus 2501) โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรค ยุงลายมีลักษณะสีขาวสลับดำ มีแหล่งเพาะพันธุ์คือ แหล่งน้ำขังที่ใสและนิ่ง พบชุกชุมมากในฤดูฝน ใช้เวลาฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 9-12 วัน ยุงลายเป็นยุงที่ออกดูดเลือดตอนกลางวัน น้ำลายของยุงลายจะมีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนเปื้อนอยู่ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของคนที่ถูกยุงลายกัดได้ พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โดยผู้ใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนพบน้อยกว่าเด็ก แต่เมื่อใดถ้าอาการเกิดรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วมักจะพยากรณ์โรคเลว ร้ายกว่าผู้ป่วยเด็ก โดยเชื้อไวรัสจะทำให้มีอาการไข้สูง ถ้ามีไข้เพียงอย่างเดียวจะเรียกว่าไข้เดงกี่ แต่ถ้าตรวจเลือดพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกง่ายและมีการรั่วของพลาสมา จะเรียกว่าไข้เลือดออกเดงกี่ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเดงกี่อาจมีน้อยมากคือมีไข้เพียงอย่าง เดียว หรืออาจรุนแรงมากจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันไวรัสนี้ การรักษาจึงเน้นที่อาการและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้
การติดต่อ
เกิดจากยุงลาย (Aedes aegypti ) โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ช่วงที่มีไข้สูง ซึ่งจะมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด และเชื้อจะเพิ่มจำนวนในยุงนาน 8-10 วัน จากนั้นเชื้อจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงลายกัดคนจะมีน้ำลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ปนออกมาด้วย ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกกัดคนต่อไปได้ อายุขัยยุงลายชนิดนี้ประมาณ 30-45 วัน
อาการของโรคไข้เดงกี่ และ ไข้เลือดออกเดงกี่
เมื่อ ถูกยุงลายกัด เชื้อไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวนาน 5-8 วันจึงจะเริ่มออกอาการ ช่วงแรกจะเป็นระยะไข้ ประมาณ 2-8 วัน โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดตามร่างกาย มักไม่มีน้ำมูกหรือไอ อาจรู้สึกเบื่ออาหาร ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา อาเจียน โดยเฉลี่ยอาการไข้จะอยู่ประมาณ 4-6 วันแล้วไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 จะเกิดภาวะรั่วของสารน้ำในเลือด (พลาสมา)ออกจากเส้นเลือด จนทำให้เกิดภาวะช็อกได้ในระยะนี้ ในขณะที่ผู้ป่วยอีกประมาณ 2 ใน 3 ไม่เกิดภาวะดังกล่าว หลังจากนั้นถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนก็จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว โดยอาการต่างๆ จะค่อยๆ ทุเลาลง ชีพจรเต้นช้าลงสู่ภาวะปกติ ไม่มีการรั่วของพลาสมา ปริมาณปัสสาวะออกมากขึ้น ผู้ป่วยเริ่มมีความอยากรับประทานอาหาร และมักมีผื่นเป็นวงเล็กๆ ตามผิวหนัง โดยรวมระยะเวลาทั้งหมดของอาการไข้เลือดออกเดงกี่ประมาณ 7-10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกเดงกี่ จะมีอาการได้ ดังนี้
- ไข้สูง มักมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า38.5 องศาเซลเซียส ไข้สูงเฉียบพลันและสูงลอยนาน 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดกระดูก
- อาจพบอาการเลือดออกง่าย มีจุดเลือดออกขึ้นตามตัว เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีรอยจุดแดงตามผิวหนังบริเวณที่มีการกดทับ
- อาเจียน ปวดท้องมาก
- อาจเกิดภาวะช็อก ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชั่วโมง ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลง ผู้ป่วยเด็กเล็กอาจจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย
ความรุนแรงการติดเชื้อไวรัสเดงกี่
- กลุ่มอาการไวรัส คือ มีแต่อาการไข้ 2-3 วัน มีผื่นแดงเล็กน้อย
- ไข้เดงกี่ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรือ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดกระดูก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
- ไข้เลือดออกเดงกี่ มีไข้สูงลอย เลือดออก ตับโต มีการรั่วของพลาสมาออกจากเส้นเลือด
- ไข้เลือดออกเดงกี่ช็อก คือมีภาวะช็อกร่วมด้วย
การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เดงกี่ หรือ โรคไข้เลือดออกเดงกี่
- ในช่วงที่มีไข้สูง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพราะการดื่มน้ำเปล่าจะทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดเสียสมดุลได้
- ลดไข้ ด้วยการเช็ดตัวบ่อยๆ และรับประทานยาลดไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล และรับประทานปริมาณยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่เกินวันละ 8 เม็ด เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้ตับอักเสบได้
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง หรือการเคี้ยวอาหารที่แข็ง จนกว่าจะไม่มีอาการประมาณ 3-5 วัน เพราะอาจยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้มีเลือดออกง่าย
- ถ้าคนใกล้ชิดมีไข้สูง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้เลือดออกเช่นเดียวกัน
- ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลเสียได้มากเช่น ยาทำให้ตับอักเสบมากขึ้น หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหารจนทำให้เลือดออกในช่องท้อง
การป้องกันการติดเชื้อ
- พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขังควรเทน้ำทิ้งหรือหาฝาปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ ยุงลายสามารถวางไข่ได้ และควรกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัย (ภายในระยะรัศมี 50 เมตร)
อาการที่ควรไปพบแพทย์
- ไข้ขึ้นและมีอาการแย่ลงมาก
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังตามตัว มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ หรือมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ
- อาเจียนมาก ปวดท้องมาก
- ซึมลง ไม่ดื่มน้ำ หรือบางรายอาจกระหายน้ำมากกว่าปกติ
- มีอาการช็อก ได้แก่ ปลายมือปลายเท้าเย็น เหงื่อออกตัวเย็น ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะในช่วงเวลา 4-6 ชั่วโมง ระดับสติสัมปชัญญะการรับรู้น้อยลง ในเด็กเล็กจะมีอาการร้องกวน กระสับกระส่าย
- ภาวะเลือดออกมาก ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือด/ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ มีประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกของอวัยวะภายใน
- ภาวะน้ำเกินจะมีอาการบวม แน่นหน้าอก หายใจเร็วเหนื่อยหอบ แน่นท้อง เนื่องจากมีน้ำท่วมปอด มีน้ำในช่องท้อง
- อาการทางระบบประสาท ชักเกร็ง มีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกตัว เอะอะโวยวาย สับสน ซึมมาก ไม่รู้สึกตัว (พบได้ไม่บ่อย)
สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกี่
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสเสียชิวิตจากโรค ไข้เลือดออกเดงกี่ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 62.5 เสียชีวิตจากภาวะช็อกนาน และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกมาก นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 37.5 เกิดจากภาวะน้ำเกิน และอีกร้อยละ 12.5 หรือ 1 ใน 8 ของผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตจากอาการทางระบบประสาทเช่น ชัก สมองบวม ฯลฯ
ไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis)
โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Japanese encephalitis virus (JEV) ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2476 และพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมียุงรำคาญ เป็นพาหะนำโรค ยุงรำคาญมีสีน้ำตาลหรือดำ เพาะพันธุ์ใน แหล่งน้ำขังนิ่งจะเป็นน้ำสะอาดหรือสกปรกก็ได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการทำปศุสัตว์ ยุงชนิดนี้พบชุกชมที่ภาคเหนือถึงร้อยละ 80 ระยะฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยนาน 9-13 วัน ยุงรำคาญมักจะออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ เจ อี เป็นได้ทุกช่วงอายุแต่พบมากในเด็กแรกเกิดถึง14 ปี โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน เชื้อไวรัสจะทำให้สมองเกิดการอักเสบ มีโอกาสสมองพิการและเสียชีวิตได้มาก ความสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ ซึ่งนอกจากจะต้องระวังไม่ให้ยุงกัดแล้ว ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปี สำหรับผู้ที่ติดเชื้อนี้แล้ว ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการให้ยาตามอาการและการระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วพบว่าอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50
การติดต่อ
เกิดจากยุงรำคาญ (Culex tritaeniorrhynchus) ที่มีเชื้อไวรัส JEV โดยยุงรำคาญตัวเมียจะดูดเลือดจากลูกสุกรที่เป็นแหล่งเชื้อไวรัส JEV (สามารถพบในโค กระบือ ม้า ลา หรือ แพะ ได้) เมื่อเชื้อเข้าสู่ตัวยุงแล้วจะเพิ่มจำนวนและไปสะสมที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้
อาการของโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
เมื่อถูกยุงรำคาญกัด เชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 5-15 วัน จากสถิติพบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสจากยุงกัดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มีเพียง 1 คนใน 200-300 คนเท่านั้นที่จะแสดงอาการป่วยออกมา ทั้งนี้ขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน เริ่มจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการเหล่านี้นานประมาณ 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ซึมลง เพ้อ ชัก หมดสติ อัมพาต ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ร้อยละ 15 -30 หลังจากนั้นไข้จะเริ่มลดลง อาการทางระบบประสาทอาจค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 หรืออาจสูงถึงครึ่งหนึ่งที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่ เช่น สมองบางส่วนถูกทำลาย เกิดอาการชัก และความพิการตามมา รวมถึงอาจทำให้ระดับสติปัญญาถดถอยลง
การป้องกันการติดเชื้อ
1. เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (JE vaccine) ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
1.1 วัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถรับการฉีดได้ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง ส่วนการฉีดครั้งที่ 2 ให้ทิ้งระยเวลาห่างจากเข็มแรก 7-14 วัน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ1 ปี และอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง
1.2 วัคซีนแบบชนิดเชื้อเป็น เข็มแรกฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น
หมายเหตุ: สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี มาก่อน ควรฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม
2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและทำลายลูกน้ำยุงบริเวณที่อยู่อาศัย และบริเวณที่มีปศุสัตว์ (โดยเฉพาะสุกร) และให้สัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
อาการที่ควรไปพบแพทย์
มีอาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึมลง เพ้อ ชักหมดสติ หรืออัมพาต ควรไปพบแพทย์ทันที
โรคมาลาเรีย (Malaria)
โรคมาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น หรือ ไข้ป่า เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่ก่อโรคในมนุษย์มีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ P. falciparum, P. vivax, P. malariae, P. ovale และ P. knowlesi โรคนี้มีประวัติการระบาดมายาวนานกว่า 1,500 ปี จนเมื่อปีพ.ศ. 2423 แพทย์ทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ Charles-Louis-Alphonse Laveran ได้ตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมในเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ยุงที่เป็นพาหะนำโรคนี้คือ ยุงก้นปล่อง ในสกุล Anopheles ซึ่งเป็นยุงที่มีขนาดใหญ่ สีน้ำตาลหรือดำ จุดสังเกตคือเวลาเกาะแล้วดูดเลือดจะยกก้นขึ้นทำมุมกับผิวหนังประมาณ 45 องศา พบชุกชุมมากในฤดูฝน ช่วงฟักตัวจนถึงตัวเต็มวัย ใช้เวลาระยะเวลานาน 9-12 วันโดยยุงก้นปล่องสายพันธุ์ dirus จะพบในป่าทึบโดยใช้ แอ่งน้ำขังนิ่ง น้ำสะอาด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และมักจะออกมาดูดเลือดคนในเวลากลางคืน ส่วนยุงก้นปล่องสายพันธุ์ minimus พบบริเวณชายป่า มีแหล่งเพาะพันธุ์คือลำธารที่มีน้ำสะอาดไหลเอื่อยๆ ยุงสายพันธุ์หลังนี้จะออกมากัดคนในช่วงเวลาหัวค่ำจนถึงดึก เด็กที่ได้รับเชื้อจะอาการหนักกว่าผู้ใหญ่ ปัจจุบันมียาฆ่าเชื้อพลาสโมเดียมเฉพาะ แต่พบว่าเชื้อดื้อยาค่อนข้างมาก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ดีสำหรับป้องกันโรคมาเลเรีย
การติดต่อ
โรคนี้เกิดจากยุงก้นปล่อง (ทั้งหมดมี 6 สายพันธุ์ที่ก่อโรคในประเทศไทย ที่สำคัญ คือ Anopheles dirus และAnopheles minimus) ที่มีเชื้อพลาสโมเดียม โดยยุงก้นปล่องตัวเมียจะดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อพลาสโมเดียมระยะมีเพศ (Gametocyte) จากนั้นเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนในตัวยุงจนเป็นระยะตัวอ่อน (Sporozoite) และจะไปสะสมที่ต่อมน้ำลายของยุง ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะเจริญเติบโตต่อไป ทำให้เกิดอาการไข้เป็นๆ หายๆ นอกจากโรคนี้จะติดต่อโดยการถูกยุงก้นปล่องกัดแล้ว ยังสามารถติดต่อจากมารดาถ่ายทอดทางรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ หรือ การได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อพลาสโมเดียมก็ทำให้ติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
อาการของโรคมาลาเรีย
เมื่อถูกยุงก้นปล่องกัด เชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์จะใช้ระยะเวลาฟักตัวไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยแล้วทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ falciparum สายพันธุ์ vivax สายพันธุ์ ovale และสายพันธุ์ P. knowlesi จะใช้ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน มีเพียงสายพันธุ์ malariae เท่านั้นที่ใช้ระยะฟักตัวนานเกินสองสัปดาห์คือประมาณ 18-40 วัน จึงจะเริ่มแสดงอาการของโรค
อาการที่สำคัญคือ ไข้ โดยช่วงแรกจะมีไข้ขึ้นไม่เป็นเวลา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ประมาณ 2-3 วัน ต่อมาไข้จะสูงขึ้นเป็นเวลา ผู้ที่ติดเชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ falciparum จะมีไข้กลับซ้ำทุกวัน แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ vivax จะมีไข้ทุก 24-48 ชั่วโมง ส่วนสายพันธุ์ malariae มีไข้ทุก 72 ชั่วโมง ส่วนสายพันธุ์ ovale มีไข้ทุก 48 ชั่วโมง ในขณะที่สายพันธุ์ ช่วงที่มีไข้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1. ระยะหนาว อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น ชีพจรเร็ว ผิวหนังเย็นซีด มีอาการหนาวสั่นขนลุก ห่มผ้าหรือประคบอุ่นไม่หาย ระยะนี้นานประมาณ 15-20 นาที ก่อนจะเข้าสู่ระยะต่อไป
ระยะที่ 2. ระยะร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้นแรง ผิวหนังร้อนแดง คลื่นไส้อาเจียน ระยะนี้นานประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3. ระยะเหงื่อออก อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว เหงื่อออกทั่วร่างกาย ระยะนี้นานประมาณ 1 ชั่วโมง
ต่อมาร่างกายจะเข้าสู่ระยะพัก อาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการอื่น ช่วงเวลานี้ขึ้นกับการแบ่งตัวของเชื้อพลาสโมเดียมแต่ละสายพันธุ์
นอกจากอาการไข้หนาวสั่นแล้ว ผู้ติดเชื้อมาเลเรียอาจมีอาการหน้าซีด ปากซีด จากการที่เชื้อทำลายเม็ดเลือดแดงจนแตก เกิดภาวะโลหิตจาง มีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน และมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลาหรือสีโค้กได้
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย
- กินยาฆ่าเชื้อมาลาเรียให้ครบตามแพทย์สั่ง เพราะเชื้อมาลาเรียมีโอกาสดื้อยาสูง ทำให้อาการไม่ดีขึ้นหรืออาจแย่ลง และถ้าเป็นชนิด P. vivax และ P. ovale ต้องกินยาต่อเพราะจะฆ่าเชื้อที่หลบซ่อนที่เซลล์ตับ ทำให้ลดโอกาสการเกิดซ้ำได้
- พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย
- การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดน้ำได้
การป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงก้นปล่องกัด เช่น ป่าทึบ หรือ แหล่งที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย
- ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีเข้มเพราะยุงชอบแสงสลัว หากต้องค้างแรม ควรกางมุ้ง เต็นท์ที่กันยุง หรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง
- ปัจจุบันไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกันมาลาเรียก่อนเดินทางไปยังแหล่ง ระบาดของโรคมาเลเรีย เนื่องจากประสิทธิผลของการรับประทานยาป้องกันต่ำมาก ส่งผลให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง และอาจบดบังอาการจนทำให้ตรวจวินิจฉัยโรคได้ช้า
อาการที่ควรไปพบแพทย์
หลังจากเดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีความ เสี่ยง ได้แก่ ป่าทึบ หรือ ชายป่า หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งของเชื้อมาเลเรีย ภายในระยะเวลา 7-40 วัน ถ้ามีอาการไข้หนาวสั่น เป็นๆ หายๆ ควรพบแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมาลาเรีย และเนื่องจากโรคมาลาเรียส่วนใหญ่จะไม่หายเอง ต้องได้รับยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะหากไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนมักจะมีอาการรุนแรงมาก ผู้ติดเชื้อบางรายจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล
ภาวะแทรกซ้อน
- เชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral malaria) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ falciparum ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท สับสน เพ้อคลั่ง ชักเกร็งกระตุก ระดับความรู้ตัวน้อยลงจนไม่รู้สึกตัว หมดสติ อาจพูดไม่ได้ อัมพาตครึ่งซีก และบางรายอาจเสียชีวิตได้
- เนื่องจากเชื้อมาเลเรียทำให้เม็ดเลือดแดงแตก จนเกิดภาวะโลหิตจาง และเมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะปล่อยสารเกลือแร่ออกมาด้วย ทำให้สมดุลเกลือแร่ในกระแสเลือดผิดปกติ ที่อันตรายคือสารโพแทสเซียมที่สูงขึ้นจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติได้
- เชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ vivax และ ovale มีคุณลักษณะพิเศษคือเมื่อรักษาจนกระทั่งหายจากโรคมาลาเรียแล้ว แม้จะไม่ได้รับเชื้อเข้ามาใหม่ แต่ผู้ป่วยสามารถกลับมามีอาการและตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมได้อีก เพราะเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์นี้สามารถหลบซ่อนอยู่ภายในเซลล์ตับและเจริญเติบโตต่อไป ด้วยเหตุนี้ขณะรับการรักษาจึงตรวจไม่พบเชื้อในกระแสเลือด และเมื่อเวลาผ่านไป เชื้อที่ซ่อนอยู่ที่ตับก็สามารถแพร่สู่กระแสเลือดได้อีก ทำให้มีไข้กลับซ้ำ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าตอนที่ติดเชื้อครั้งแรก