ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ?
เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย ค้นหาโรคหรือการเป็นพาหะของโรคต่างๆที่แฝงอยู่ในร่างกายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นการป้องกันโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากคู่สมรส และยังป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูก และหากตรวจพบโรคจะได้รับการรักษา
ควรตรวจเลือดพื้นฐานอะไรบ้าง
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ดูความเข้มข้นของเลือด
- ตรวจธาลัสซีเมีย (Hb typing) เพื่อประเมินว่าคู่สมรสเป็นโรคหรือพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้
- ตรวจหมู่เลือด ABO (หมู่เลือด A,B,AB,O) เพื่อทราบหมู่เลือดของแต่ละฝ่าย
- ตรวจหมู่เลือด Rh (Rh+ และ Rh-) คนไทยส่วนใหญ่มีหมู่เลือด Rh+ แต่บางคนอาจมีหมู่เลือด Rh- ซึ่งเป็นหมู่เลือดหายาก ถ้าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีหมู่เลือด Rh- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ เนื่องจากเมื่อคุณแม่มีหมู่เลือด Rh- คุณพ่อมีหมู่เลือด Rh+ และลูกในครรภ์มีหมู่เลือด Rh+ เหมือนคุณพ่อ เม็ดเลือดแดงของลูกมีโอกาสเข้าไปสู่กระแสเลือดของแม่ได้ในระหว่างที่มีการหลุดลอกของตัวรก คุณแม่จะสร้างภูมิมาต่อต้านแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงของลูก ลูกคนแรกจะปลอดภัย แต่ถ้าตั้งครรภ์ในท้องถัดไป ถ้าลูกในครรภ์มีหมู่เลือด Rh- เหมือนคุณแม่ ก็จะไม่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก แต่ถ้าหากลูกมีหมู่เลือด Rh+ จะส่งผลให้ภูมิที่คุณแม่สร้างขึ้นจากลูกคนแรกไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกคนที่สองและคนถัดๆไปได้ ทำให้ลูกมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง มีภาวะซีด หรือบางรายถ้ารุนแรงอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
- ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและภูมิคุ้มกัน โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์,เลือด และจากแม่สู่ลูก หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อีกฝ่ายหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี หากตรวจพบควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
- ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน หากมีติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ลูกพิการหรือแท้งได้ หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน
- ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีการติดเชื้อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ควรรับการรักษา
- ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV) หากตรวจพบเชื้อควรรับการรักษา และหาวิธีป้องกันการติดต่อไปยังคู่สมรสผ่านการมีเพศสัมพันธ์