ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งผิวหนัง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง

ส่วนใหญ่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และยังมีปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย อาทิ การสัมผัสกับสารพิษอันตรายเป็นเวลานาน หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังมี ดังนี้

  • มีผิวขาวซีด เนื่องจากผิวหนังมีเม็ดสีน้อยกว่า
  • อยู่กลางแดดเป็นเวลานานจนเกินไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรือทาครีมกันแดด
  • อาศัยอยู่ในแถบที่มีแสงแดดจัด หรืออยู่ในที่สูง
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
  • ในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
  • ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ
  • มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ

อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แขน ขา มือ ใบหน้า หรือบริเวณที่ต้องถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ ทั้งนี้อาการของมะเร็งผิวหนังจะแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งผิวหนังดังนี้

  • มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ อาการที่เห็นได้ชัดคือจะมีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง มีลักษณะผิวเรียบมัน และมักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งก็มีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ตุ่มเนื้อจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้า และจะโตไปเรื่อย ๆ จนอาจแผลแตกในที่สุด ทำให้มีเลือดออกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง
  • มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ อาการของมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มต้นจากตุ่มเนื้อสีชมพู หรือแดง และด้านบนอาจมีลักษณะเป็นขุย หรือตกสะเก็ด เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกแข็ง เลือดออกง่าย แผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
  • มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของมะเร็งชนิดนี้ เริ้มต้นจะมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือขี้แมลงวัน แต่จะโตเร็ว ขอบเขตไม่เรียบและอาจมีสีไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ที่บริเวณแผลอาจตกสะเก็ดหรือมีอาการเลือดออกด้วยเช่นกัน

วิธีการป้องกันมะเร็งผิวหนัง สามารถทำอย่างไรได้บ้าง ?

  • พยายามอยู่ในที่ร่ม
  • หลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เนื่องจากเป็นเวลาที่แดดแรงสุด
  • หากจำเป็นต้องออกแดด ควรสวมหมวกปีกกว้าง สวมแว่นตากันแดด สวมเสื้อผ้าสีเข้ม แขนขายาว และกางร่มที่เคลือบสารป้องกันรังสี UV
  • การทาครีมกันแดด
    • เลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันครอบคลุมทั้งรัสี UVA และ UVB (Broad-spectrum sunscreens) ที่มี SPF 30 ขึ้นไป และมีประสิทธิภาพกันน้ำ
    • ควรทาครีมกันแดดซ้ำระหว่างวัน โดยแนะนำให้ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากต้องออกแดด
    • ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมสำหรับ 1 ใบหน้า (ไม่รวมคอ) คือ บีบครีมกันแดดมาความยาว 2 ข้อนิ้วมือ สำหรับกันแดดแบบครีม หรือขนาดเหรียญสิบบาท 1 เหรียญ สำหรับกันแดดแบบน้ำ
    • ไม่ควรละเลยการทาครีมกันแดดบริเวณอื่นที่สัมผัสแสงแดดด้วย เช่น คอ หู หลัง แขน และขา
  • งดสูบบุหรี่
  • หมั่นสำรวจผิวหนังด้วยตนเอง หากมีตุ่มที่ผิวหนังที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง
  • ควรได้รับการตรวจประเมิน เพื่อคัดกรองมะเร็งผิวหนังเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น ในผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง หรือเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน

มะเร็งผิวหนังสามารถรักษาหายหรือไม่ ?

มะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้ ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่หากมะเร็งกระจายไปส่วนอื่น จะต้องใช้เคมีบำบัดหรือการฉายแสงร่วมด้วย สำหรับการรักษาด้วยการขูดออกร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้า การจี้ด้วยความเย็น หรือการทายา เช่น imiquimod หรือ 5-fluouracil จะใช้กับมะเร็งผิวหนังชนิดไม่รุนแรง และมีการลุกลามแค่ชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น

ดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง ให้คำปรึกษาก่อนทำหัตถการ และสามารถทำหัตถการแล้วกลับบ้านได้เลยไม่ต้องนอน รพ.
หมดความกังวลและสงสัยอาการที่คุณเป็นอยู่
📞 โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก โทร. 0-5505-1724
ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
แหล่งที่มา :

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ